เรื่อง : อัญวรรณ ทองบุญรอด

ฤดูกาลแห่งแฟชั่นวีคปลายปีเพิ่งผ่านพ้นไป ดีไซเนอร์หลากค่ายออกมาโชว์ไอเดียสร้างสรรค์บนเส้นสายลายผ้าแบบ Autumn-Winter กันอย่างครึกครื้น แคตวอล์กคราคร่ำไปด้วยหนุ่มสาวสมัยใหม่ที่มาเดินอวดโฉมพรีเซนต์เสื้อผ้าคลอเคล้าด้วยเสียงดนตรีที่ช่วยเสริมบรรยากาศให้เข้ากัน

ดนตรีกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งของงานแฟชั่นที่ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะช่วยเสริมคอนเซปต์ของงานออกแบบให้แข็งแรงและชัดเจนขึ้นแล้ว ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวแห่งอาภรณ์ได้อย่างน่าสนใจ ไม่เฉพาะเรื่องราวในปัจจุบันเท่านั้น หากว่าสะท้อนไปถึงประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม อันเชื่อมโยงกันในแต่ละยุคสมัยได้อีกด้วย

ย้อนไปเมื่อศตวรรษที่ 17 วัฒนธรรมบาโรคกำลังเฟื่องฟูด้วยเอกลักษณ์ของการประดับประดาตกแต่งให้หรูหรา อลังการ โอ่อ่าและฟุ่มเฟือย เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่มั่งคั่งของอาณาจักรและสถาบันกษัตริย์ ดนตรีบาโรคก็มีลักษณะเช่นนั้นคือตกแต่งไปด้วยโน้ตประดับ (Ornamental) รูปพรรณแบบสอดประสาน และลักษณะการประพันธ์แบบ Polyphony เพื่อดัดแปลงทำนองเดียวให้กลายเป็นแนวเสียงเพิ่มขึ้นถึง 3-4 แนว แฟชั่นในยุคนี้จึงปรากฏในลักษณะเดรสยาวกรุยกราย ประดับลูกไม้หรือเป็นผ้าซ้อนกันหลายชั้น ลักษณะคัตติ้งโชว์การตัดเย็บที่ประณีตราวกับเป็นงานศิลปะชั้นยอด

ต่อมายุคคลาสสิกหรือช่วงปลายศตวรรษที่ 18 มีการล่าอาณานิคมและการปฏิวัติปฏิรูปในอเมริกา สาวๆ ในยุคนี้จึงได้รับอิทธิพลการแต่งตัวแบบกรีกโบราณ คือ ชุดยาวกรอมพื้นเอวสูงถึงใต้อก ตัดด้วยผ้าบางๆ พริ้วๆ อย่างผ้าฝ้าย มัสลิน ผ้าไหมหรือขนแกะ เน้นสีขาวหรือสีสว่างๆ นวลตาอย่างพาสเทล สวมถุงมือยาวและหมวก พร้อมกับผ้าคลุมไหล่หรือเสื้อคล้ายแจ๊กเก็ตแขนยาวซึ่งเลียนแบบมาจากเสื้อทหารที่ตัดชายด้านหลังออก เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของประชาธิปไตย ทำให้ดนตรียุคคลาสสิกก็จะเน้นไปที่ความเคร่งครัดในกฏระเบียบแบบแผน ใช้เสกลและทางคอร์ดที่ชัดเจนสมดุล มีอัตราจังหวะ (Time Signature) สม่ำเสมอ รูปประพันธ์แบบ Polyphony และ Basso Continuo หายไปเพราะผู้ประพันธ์ต้องการควบคุมทิศทางของบทเพลงเองมากกว่าที่จะให้ผู้เล่นด้นสดได้อย่างยุคบาโรค

ในศตวรรษต่อมา (1815-1840) เกิดแนวคิดโรแมนติกนิยมซึ่งเน้นความเป็นอิสระในการแสดงออกของมนุษย์ ส่งผลให้ผู้ประพันธ์แต่งเพลงออกมาจากความรู้สึกและอารมณ์มากกว่ากฏเกณฑ์บังคับ การแต่งตัวจึงเน้นไปที่อารมณ์อ่อนไหวของสตรีเพศและแสดงความรักสวยรักงามของผู้หญิง ด้วยกระโปรงพองๆ ฟูฟ่องตั้งแต่หัวจรดเท้า รัดติ้วด้วยคอร์เซ็ตเพื่อโชว์ทรวดทรวงให้เอวคอดและสะโพกผายออก ใส่หมวกใบใหญ่ประดับด้วยดอกไม้แบบอลังการ จนกระทั่งเกิดกระแสวิคตอเรียฟีเวอร์ในช่วงปี 1840-1890 ทำให้พระนางวิคตอเรีย ราชินีอังกฤษ กลายเป็นต้นแบบของผู้หญิงหลายคนในยุคนั้นทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและการแต่งตัว ลักษณะของเดรสยังรัดคอร์เซ็ตเพื่อเน้นสัดส่วนอยู่ และคอเสื้อกว้านลึกโชว์อกแสดงความเซ็กซี่ แต่หมวกใบใหญ่หายไป กลายเป็นหมวก Deep Bonnets ซึ่งปิดหน้า จะมองเห็นหน้าเต็มต่อเมื่อหันเข้าหากันตรงๆ เท่านั้น แสดงความถ่อมตัวแบบพระนางวิคตอเรีย ก่อนจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ แน่นอนว่าส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนและศิลปวัฒนธรรมอย่างมากมายด้วย

เริ่มตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918) ผู้ชายไปออกรบ ส่วนผู้หญิงต้องมาทำหน้าที่หลายอย่างแทนผู้ชาย ลักษณะการแต่งตัวจึงมีความสบายและคล่องตัว เช่น ชุดสูทแบบกระโปรงหรือชุดที่มีกลิ่นอายแบบทหาร (Military) อย่างปกเสื้อและคอเสื้อแบบทหารเพื่อให้ดูทะมัดทะแมง กระโปรงสั้นและแคบลงเล็กน้อย ไม่นิยมใส่เครื่องประดับ ขณะที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ อย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ทำให้กระแสรักชาติหรือดนตรีชาตินิยม (Nationalism) แพร่ขยายไปทั่วยุโรปและอเมริกา ได้แก่ รัสเซีย, ฟินแลนด์, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, โปแลนด์, เช็กโกสโลวะเกีย ฯลฯ โดยการใช้ท่วงทำนองเพลงพื้นบ้าน (Folk Music) หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการประพันธ์เพลง เกิดความเฉพาะตัวและปลุกใจประชาชนในชาติให้ฮึกเหิม นักประพันธ์เพลงแนว Nationalism ได้แก่ กลุ่ม The Five ของรัสเซีย (Balakirev, Borodin, César Cui, Musorgsky, Rimsky-Korsakov), Sibelius แห่งฟินแลนด์, Smetana และ Dvorak แห่งเช็กโกสโลวะเกีย ฯลฯ

เมื่อสงครามสงบลง ราวช่วงปี 1920-1940 ก็เป็นยุคเริ่มต้นของเพลงแจ๊สที่ริเริ่มโดยชนผิวดำชาวอเมริกัน หนุ่มสาวรุ่นใหม่เติบโตขึ้นและแสวงหาสิ่งใหม่ๆ แจ๊สจึงนำเสนอรูปแบบการประพันธ์ดนตรีที่มีอิสระเสรี ไม่ยึดติดกับสกอร์โน้ตและกฏเกณฑ์เดิมๆ แต่เล่นดนตรีจากจิตใจหรือที่เรียกว่าทักษะการด้นสด (Improvisation) กลายเป็นเอกลักษณ์ของเพลงแจ๊สที่ภายนอกฟังดูเรียบง่ายสบายๆ แต่ภายในลึกซึ้งและซับซ้อนเต็มไปด้วยลูกเล่นและเทคนิคการประพันธ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เช่น จังหวะขัดหรือการแฝงโน้ตที่ผิดแปลกไปจากปกติ สีสันที่โดดเด่น และอัตราจังหวะที่ซับซ้อน จนมีวิวัฒนาการนำไปสู่ดนตรีแบบ Ragtime, Blues, Swing. Bebop เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวงดนตรีแบบบิ๊กแบนด์ที่ใช้คนเล่นน้อยกว่าวงออร์เคสตราแบบคลาสสิก เน้นเครื่องเป่าและเครื่องให้จังหวะ ซึ่งทำให้เพลงดูสนุกสนานและทันสมัย

ด้วยความที่อิสระเสรีภาพกำลังมาแรงในยุคนี้เอง ทำให้ผู้หญิงมีอิสระในการแต่งกายมากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน แฟชั่นที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้หญิงสวมกระโปรงสั้นเป็นครั้งแรกเรียกว่า “Flapper dress” ชุดเดรสแบบเรียบๆ ลำตัวตรง ตัดผมบ๊อบสั้นกุด ใส่สเตย์รัดหน้าอกให้แบนเป็นไม้กระดานและแต่งหน้าจัดขึ้น ดีไซน์เนอร์ชื่อดังแห่งยุค ได้แก่ มาเดอแลน วีโอเนต์ (Madeleine Vionnet) เจ้าแห่งเทคนิคการตัดผ้าเฉลียงหรือ Bias Cut, อลิซ แกรส (Alix Gres) ราชินีแห่งการพันทบหรือ Wrapping ซึ่งเป็นเทคนิคการตัดเย็บที่มีรูปฟอร์มและเส้นสายภายนอกเรียบๆ ดูละมุนตา แต่กลับแฝงด้วยลูกเล่นและเทคนิคซับซ้อน ทำให้เสื้อผ้าแนบเข้ารูปตามธรรมชาติขับส่วนโค้งเว้าของร่างกายให้โดดเด่นขึ้นโดยที่ยังเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว จนบางคนให้คำนิยามสไตล์การตัดเย็บเหล่านี้ว่าเป็นการอิมโพรไวซ์เช่นเดียวกับเพลงแจ๊ส เพราะว่าใช้เทคนิคเล่นกับรูปทรงและเนื้อสัมผัสของผ้าอย่างอิสระตามแต่ใจจะคิดในเวลานั้น เช่นเดียวกับสไตล์ของดีไซน์เนอร์อีกคนหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ โคโค่ ชาแนล (Gabrielle Bonheur Coco Chanel) ผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่นด้วยเสื้อผ้าผู้หญิงที่มีความทะมัดทะแมงและมั่นใจ ด้วยการริเริ่มให้ผู้หญิงใส่สูท ใส่กางเกง และเดรสเข้ารูปสีดำ ขณะเดียวกันก็เผยความเป็นหญิงแบบเท่ห์ๆ ด้วยดอกพุดสีขาวที่เธอมักนำมาทัดไว้ที่ผมจนกลายเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของชาแนล ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แฟชั่นของโลกก้าวสู่ความเป็นสากลอย่างแท้จริง

แฟชั่นและดนตรีหยุดชะงักไปพักหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะกลับมาบูมอีกครั้งในยุค 60s เมื่อชนชั้นกลางเริ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ช่วงเวลานั้นเพลงร็อกและแฟชั่นข้างถนนเข้ามามีบทบาทในสังคมเป็นอย่างมาก บวกกับวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้การตัดเย็บเสื้อผ้ามีความรวดเร็วและราคาถูกลงด้วย มีผ้าไนลอน มีกางเกงยีนส์ มีเสื้อหนัง และวัสดุอื่นๆ ที่หลากหลาย ผู้คนจึงสนุกสนานกับการแต่งตัวโดยเรียกรวมๆ ว่าแนวม้อด ประเภทชุดกระโปรงลายเรขาคณิต ถุงน่องหลากสี เสื้อปกคอบัว กางเกงขาบาน และมินิสเกิร์ตที่สั้นเหนือเข่าถึง 4-8 นิ้วตามระดับความกล้าของผู้สวมใส่ วัยรุ่นหลายคนหันมาแต่งตัวตามดารานักร้อง เช่น Marilyn Monroe สุดยอดอมตะเซ็กซ์ซิมโบลเจ้าของแฟชั่นกระโปรงบานพลิ้วๆ, The Beatles วงสี่เต่าทองกับทรงผมหน้าม้า, Elvis Presley เจ้าพ่อร็อกแอนด์โรลด์กับแจ๊กเก๊ตหนังและกางเกงยีนส์รัดรูป ฯลฯ

หลังจากนั้นดนตรีร็อกก็วิวัฒนาการต่อไปอีกหลายแนว ได้แก่ ฮิปปี้ (ดนตรีที่ผสมผสานความเป็นพื้นเมือง) มาพร้อมกับการแต่งตัวแนวตะวันออกด้วยเสื้อเชิ๊ตมัดย้อมสีสันสดใส กางเกงขาบานรุ่ยๆ ผมฟูและเฮดแบนด์สไตล์ Jimi Hendrix, พังก์ (ดนตรีที่ถือกำเนิดมาจากชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกกดขี่ทางสังคม) กับแฟชั่นเสื้อกางเกงขาดรุ่ย ผมสีสด และสักเจาะทั่วตัว อย่างวง Sex Pistols และ The Clash, ดิสโก้กับเสื้อผ้าลายกราฟิก ลายตาราง หรือสีเมทัลลิกมันวาวสะท้อนแสงไฟแบบวง Abba มาจนถึงแนวฮิปฮอปหรือแร็พซึ่งเป็นแฟชั่นของเสื้อตัวใหญ่แบบแก๊งสเตอร์อเมริกันผิวดำ ใส่เครื่องประดับเยอะๆ เช่นแหวน ตุ้มหู หรือโซ่ทอง ฯลฯ

ทุกวันนี้ดนตรีกับแฟชั่นยังคงดำเนินไปและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาและสภาพสังคม คงไม่น่าแปลกใจแล้วว่าทำไมผู้คนในศตวรรษที่ 21 นิยมทำศัลยกรรม ผมทรงปาดข้าง และหัดเต้น B-Boy เช่นเดียวกับศิลปินญี่ปุ่นเกาหลี วัฒนธรรมเพลง J-Pop, K-Pop แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกไม่เว้นแม้บนเขาบนดอย ท่ามกลางแนวเพลงเก่าแบบเรโทรที่ยังคงกรุ่นกลิ่นปะปนอยู่นอกกระแสหลัก ไว้ให้เป็นตัวเลือกหลากหลายสำหรับคนฟังในยุคแห่งการสื่อสารและเทคโนโลยี เหมือนแฟชั่นที่มักหมุนวนเอาสิ่งเก่าๆ กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งราวกับฤดูกาลซึ่งหมุนวนอยู่ทุกปี แต่คนเราก็มักตื่นเต้นทุกปีที่มันวนกลับมา…